ตั๋วและบัตรส่วนลดต่างๆของโซล

อัพเดตข้อมูลล่าสุด มกราคม 2017 มีบัตรออกใหม่ชื่อว่า Korea Tour Card ที่เหมือนกับ T-Money แทบจะทุกประการ อ่านรายละเอียดบัตร Korea Tour Card เพิ่มที่นี่

 

บัตรหลักที่สำคัญที่สุดในการเดินทางในโซลคือ บัตร T-Money ที่เป็นบัตรแบบเติมเงินใช้ได้กับรถไฟใต้ดิน, รถบัส, รถแท๊กซี่ และร้านสะดวกซื้อต่างๆเหมาะกับนักท่องเที่ยวทั่วๆไป นอกจากนี้ก็จะมีบัตรย่อยอื่นๆที่มีรายละเอียดการใช้งานแตกต่างกันเล็กๆน้อยๆ เช่น บัตร M-Pass ซึ่งเป็นบัตรสำหรับเดินทางแบบเหมารายวัน, บัตร Seoul City Pass คือบัตรเดินทางแบบเหมารายวันเหมือนกัน แต่จะสามารถขึ้นรถบัส Seoul city tour bus หรือรถบัสที่จะวิ่งรับส่งนักท่องเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวเด่นๆของโซล  และบัตร Seoul City Pass Plus ที่เป็นบัตรเติมเงินแบบ T-Money แต่จะมีส่วนลดสำหรับค่าใช้บริการสถานที่ต่างๆ เช่น Seoul Tower, Spa หรือพวกร้าน Massage ที่เข้าร่วมบัตรนี้

* บัตร City Pass กับ City Pass Plus เป็นบัตรคนละแบบกันเลย แต่ตั้งชื่อคล้ายกันซะงั้น

 

ถ้าต้องการคำแนะนำแบบเร็วๆก็ซื้อ T-Money แล้วเติมเงินทีละ 10,000 วอนก็พอจบเลย! แต่ถ้าใครต้องการรายละเอียดของบัตรแต่ละประเภทก็ตามข้อมูลด้านล่างนี้เลย โดยจะเริ่มจากแบบที่เป็นบัตรเติมเงินก่อน คือบัตร T-Money กับ Seoul City Pass Plus แล้วค่อยเป็นบัตรแบบเหมารายวันคือ บัตร M-Pass กับ Seoul City Pass

 

รูปตัวอย่างบัตร T-Money

รูปตัวอย่างบัตร T-Money

รูปแบบบัตร T-Money แบบอื่นๆ

รูปแบบบัตร T-Money แบบอื่นๆ

 

1. บัตร T-Money 


บัตร T-Money เป็นบัตรเติมเงินแบบเบสิกที่ใช้กันแพร่หลายที่สุดของโซล หาซื้อและเติมเงินได้ง่ายๆตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป เช่น GS 25 หรือ Family Mart, สถานีรถไฟใต้ดิน หรือที่สนามบินก็มี นอกจากความสะดวกในการใช้งาน เพราะไม่ต้องมาคอยซื้อตั๋วทีละเที่ยวแล้ว การใช้บัตร T-Money ยังได้รับส่วนลดเพิ่มสำหรับการใช้บริการทั้งรถไฟและรถบัสด้วย ประมาณ 100 วอนต่อเที่ยว  แต่ว่าจะมีค่าซื้อบัตร 2,500 วอนที่ไม่สามารถคืนได้ วิธีการใช้งานก็ทั่วๆไปเหมือนพวกบัตรรถไฟฟ้าบ้านเรานั่นแหล่ะ ส่วนเวลาขึ้นรถบัสให้แตะตอนขึ้นและลงทุกครั้ง เพราะถ้าเราเปลี่ยนสาย(หรือข้ามระบบจากรถไฟต่อรถบัสเลยก็ยังได้)แต่ยังไม่ถึง 10 กิโลเมตร ระบบจะไม่คิดเงินเราเพิ่ม แต่ต้องห่างกันไม่เกิน 30 นาทีเท่านั้น

ส่วนเวลาเติมเงินทำได้ตั้งแต่ 1,000-90,000 วอน วิธีการคืนก็สามารถคืนได้ที่ร้านสะดวกซื้อที่ไหนก็ได้ที่มีป้าย T-Money (ซึ่งก็เกือบทุกที่นั่นแหล่ะ) โดยจะถูกหักค่าคืนอีก 500 วอน สรุปว่าถ้าใช้แล้วจะคืนจะเสียค่าบัตรเป็น 3,000 วอน ยกเว้นว่ามีเงินในบัตรเกิน 20,000 วอน จะต้องไปคืนที่สำนักงานใหญ่ของบัตร T-Money อยู่ที่สถานี Seoul Station ทางออก 10 เท่านั้น

ข้อแนะนำการใช้บัตร T-Money

1. ควรเติมเงินให้พอดีกับที่ใช้ ถ้าคำนวนเงินในบัตรให้เหลือน้อยๆได้ก็จะยิ่งดี เพราะขากลับอาจจะซื้อน้ำหรือขนมที่ร้านสะดวกซื้อกินให้เงินในบัตรหมดไปก็จะได้ไม่ต้องเสีย ค่าคืนบัตร 500 วอน แล้วเก็บเอาไว้เป็นที่ระลึกเลย เพราะบัตร T-Money ไม่มีวันหมดอายุ คราวหลังกลับมาเที่ยวอีกก็สามารถใช้ต่อได้เลย
2. ไม่ควรเติมเงินเยอะเกิน 20,000 วอน เพราะถ้าตอนคืน จะยุ่งยากกว่ามาก

 

ตัวอย่างบัตร Seoul City Pass Plus สังเกตเครื่องหมายบวกเล็กๆต่อที่ต่อท้ายชื่อ

ตัวอย่างบัตร Seoul City Pass Plus สังเกตเครื่องหมายบวกเล็กๆต่อที่ต่อท้ายชื่อ

 

[wp_ad_camp_1]

 

2. บัตร T-Money City Pass Plus


บัตรนี้จะเหมือนกับบัตร T-Money ธรรมดาทุกอย่างเลย เพียงแต่จะสามารถใช้เป็นส่วนลดตามสถานที่บางแห่งได้เช่น หอคอยโซล(N Seoul Tower) หรือพวกร้าน Spa เป็นต้น โดยจะเสียค่าบัตรแพงขึ้นจาก T-Money ปกติอีก 500 วอน เป็น 3,000 วอน โดยตอนที่ซื้อบัตร เค้าจะแนบคูปองส่วนลดมาให้ด้วย บัตรนี้จะคุ้มค่าสำหรับคนที่จะไปใช้บริการที่ได้ส่วนลด ดังนี้

คูปองส่วนลดของบัตร Seoul City Pass Plus

คูปองส่วนลดของบัตร Seoul City Pass Plus

 

 

ต่อมาจะเป็นบัตรแบบเหมารายวันซึ่งจะมีอยู่ 2 แบบด้วยกัน คือ M-Pass กับ Seoul City Pass

1. M-Pass


บัตร M-Pass เป็นบัตรแบบเหมารายวัน ใช้ได้วันละไม่เกิน 20 เที่ยว ใช้ได้ทั้งรถไฟและรถบัส วิธีการใช้งานก็เป็นการแตะเหมือนกับพวกบัตรเติมเงิน T-Money แต่บัตรนี้จะซื้อได้เฉพาะที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวที่สนามบินเท่านั้น ที่สนามบินอินชอน อยู่ที่ชั้น 1F ทางออก 5 และ 10 ตอนซื้อจะเสียเงินค่าประกันบัตร 4,500 วอน ตอนคืนสามารถคืนได้ทุกที่ ที่เป็นศูนย์บริการนักท่องเที่ยว(Seoul Travel Information Centers) แต่จะต้องเสียเงินค่าคืนบัตรอีก 500 วอน สรุปว่า จะต้องเป็นราคาบัตร บวกค่าคืนบัตรอีก 500 วอน

บัตร M- Pass จะเริ่มนับวัน จากที่เราใช้วันแรกจนถึงเที่ยงคืนของวันที่หมดอายุ ถ้าเป็นแบบ 1 วันก็จะหมดอายุตอนเที่ยงคืนของวันแรกที่เริ่มใช้ (ไม่ได้นับเวลาเป็น 24 ชั่วโมง)  โดยตอนซื้อบัตรจะได้รับคูปองส่วนลดสำหรับใช้บริการสถานที่ต่างๆมาด้วย ส่วนใหญ่จะเป็นพวกร้าน Spa หรือร้านอาหารเป็นต้น

บัตรนี้สามารถใช้ได้กับ รถไฟใต้ดิน สาย 1-9, รถไฟจากสนามบินอินชอน AREX แบบธรรมดา, รถไฟโซลทุกสาย ยกเว้นสาย Sinbundang และรถบัสโซลทุกแบบ ยกเว้นแบบสีแดง

ตัวอย่างบัตร M-Pass

ตัวอย่างบัตร M-Pass

 

ระยะเวลา ราคา
1 วัน 10,000 วอน
2 วัน 18,000 วอน
3 วัน 25,500 วอน
4 วัน 42,500 วอน
7 วัน 59,500 วอน

 

2. บัตร Seoul City Pass(ไม่มี Plus)


บัตร Seoul City Pass เป็นบัตรแบบเหมารายวัน ขึ้นได้ไม่เกิน 20 เที่ยวเหมือนกับ M-Pass เลย แต่มีข้อแตกต่างกัน 4 อย่างด้วยกันดังนี้
1. การคำนวนเวลาการใช้งานของบัตร Seoul City Pass จะเป็นแบบ 24 ชั่วโมง ไม่ใช่หมดเที่ยงคืนของวันเหมือนของ M-Pass เช่น ถ้าซื้อ Seoul City Pass แบบ 1 วัน เริ่มใช้วันนี้ บ่าย 3 ก็จะไปหมดพรุ่งนี้ บ่าย 3 เป็นต้น
2. บัตร Seoul City Pass จะสามารถใช้ขึ้นรถบัสแบบวนเที่ยวรอบเมืองได้ด้วย ชื่อว่า Seoul city tour bus โดยจะวิ่งในเมืองไปตามสถานที่ท่องเที่ยวดังๆต่างๆ
3. สถานที่ซื้อและคืนบัตรของ Seoul City Pass จะสะดวกกว่ามากเพราะซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป เช่น GS25 หรือ Family Mart
4. ราคา ก็แน่นอนว่าราคาของบัตร Seoul City Pass จะแพงกว่า M-Pass

ตัวอย่างบัตร Seoul City Pass

ตัวอย่างบัตร Seoul City Pass

 

ระยะเวลา ราคา
1 วัน 15,000 วอน
2 วัน 25,000 วอน
3 วัน 35,000 วอน

 

ข้อสรุป

จากประสบการณ์ของตัวเองและการสอบถามคนอื่นๆที่ไปเที่ยวโซลมาแล้ว ปรากฏว่าไม่เคยมีวันไหนเสียค่าเดินทางถึงวันละหมื่นวอนเลย จึงขอสรุปว่าแบบเหมาไม่น่าจะคุ้ม แบบเติมเงินน่าจะคุ้มค่ากว่า ทีนี้จะใช้แบบ T-Money หรือ Seoul City Pass Plus อาจจะต้องแล้วแต่ว่าจะไปใช้บริการสถานที่ที่ได้ส่วนลดมั้ย แต่จากประสบการณ์ที่ไปมาก็ไม่ได้ใช้ และบัตร Seoul City Pass Plus ก็หาซื้อยากกว่าบัตร T-Money ธรรมดามาก จึงสรุปฟันธงที่ว่า ซื้อบัตร T-Money ก็พอแล้ว

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

เรื่องท่องเที่ยวเกาหลีที่กำลังฮิต